วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

การวิเคราะห์วรรณกรรม

การอ่านและวิเคราะห์นวนิยาย
คำว่า “นวนิยาย” (Novel) หมายถึง หนังสือที่เขียนเป็นร้อยแก้ว เล่าถึงชีวิตในแง่ต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น ด้านความคิด ความประพฤติและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต จริงของมนุษย์ ชื่อคน หรือพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น นวนิยายแบ่งเป็น ๖ ประเภท ดังนี้
๑. นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องผู้ชนะสิบทิศ (อิงประวัติศาสตร์มอญ) ซูสีไทเฮา (อิงประวัติศาสตร์จีน) สี่แผ่นดิน (อิงประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน
รัชกาลที่ ๕-๘) กระท่อมน้อยของลุงทอม (อิงประวัติศาสตร์อเมริกา)
๒. นวนิยายวิทยาศาสตร์ คือ นวนิยายที่นำความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ มาเขียนเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น เช่น กาเหว่าที่บางเพลง สตาร์วอร์ (Star war)
มนุษย์พระจันทร์ มนุษย์ล่องหน เป็นต้น
๓. นวนิยายลึกลับ ฆาตกรรม นักสืบ สายลับ เช่น เรื่องเชอร์ลอกโฮม มฤตยูยอดรัก
๔. นวนิยายเกี่ยวกับภูติผีปิศาจ เช่น แม่นาคพระโขนง กระสือ ศีรษะมาร เป็นต้น
๕. นวนิยายการเมือง คือ นวนิยายที่นำความรู้ทางการเมืองการปกครอง มาเขียนเป็นเนื้อเรื่อง เช่น เรื่องไผ่แดง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปาปุ้นจิ้น สามก๊ก สารวัตรใหญ่ เป็นต้น
๖. นวนิยายด้านสังคมศาสตร์ คือ นวนิยายที่จะสะท้อนสภาพสังคม เช่น เรื่องเมียน้อย เสียดาย เพลิงบุญ เกมเกียรติยศ นางทาส เป็นต้น

องค์ประกอบของนวนิยาย
นวนิยายแต่ละเรื่องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
๑. โครงเรื่อง (Plot) หมายถึง ขอบข่ายหรือโครงของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกัน
๒. เนื้อเรื่อง (Story) หมายถึง เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้เขียนถ่ายทอดยกมาทำให้ ผู้อ่านทราบว่าเรื่องที่อ่านนั้นเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เมื่อใด มีเหตุการณ์ หรือความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครอย่างไร เรื่องเริ่มต้นอย่างไร ดำเนินไปอย่างไร และจบอย่างไร
๓. ฉาก (Setting) คือ สถานที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่องอาจเป็นประเทศ เมือง หมู่บ้าน ทุ่งนาในโรงภาพยนตร์ ฯลฯ
๔. แนวคิด (Theme) ผู้แต่งจะสอดแทรกแนวคิดไว้อย่างชัดเจนในคำพูด นิสัย พฤติกรรม หรือบทบาทของตัวละคร หรือพบได้ในการบรรยายเรื่อง
๕. ตัวละคร (Characters) ผู้แต่งเป็นผู้สร้างตัวละครขึ้นมา โดยตั้งชื่อให้ แล้วกำหนดรูปร่าง หน้าตา เพศ วัย นิสัยใจคอ บุคลิกภาพ ตลอดจนกำหนดบทบาท และ
โชคชะตาของตัวละครเหล่านั้นด้วย

หลักการอ่านและพิจารณานวนิยาย ดังนี้
๑. โครงเรื่องและเนื้อเรื่อง การแสดงเนื้อเรื่องคือการเล่าเรื่องนั่นเอง ทำให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เมื่อใด มีเหตุการณ์อะไร ส่วนโครงเรื่องนั้น คือส่วนที่เน้นความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผล ต่อเนื่องกัน
โครงเรื่องที่ดีมีลักษณะดังนี้
๑.๑ มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องและระหว่างบุคคลในเรื่อง อย่างเกี่ยวเนื่องกันไปโดยตลอด
๑.๒ มีข้อขัดแย้งหรือปมของเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ความขัดแย้งของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม การต่อสู้ระหว่างอำนาจอย่างสูงกับอำนาจอย่างต่ำในจิตใจ การชิงรักหักสวาท ฯลฯ
ข้อขัดแย้งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาอย่างน่าสนใจ
๑.๓ มีการสร้างความสนใจใคร่รู้ตลอดไป (Suspense) คือการสร้างเรื่องให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้ อยากอ่านต่อ อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปิดเรื่องที่ผู้อ่านต้องการทราบไว้ก่อน การบอกใบ้ให้ผู้อื่นทราบว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในตอนต่อไป การจบเรื่องแต่ละตอน ทิ้งปัญหาให้ผู้อ่านอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวต่อไป
๑.๔ มีความสมจริง (Realistic) คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล มิใช่เหตุประจวบหรือเหตุบังเอิญที่มีน้ำหนักเบาเกินไป เช่น คนกำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน
หาทางออกหลายอย่างแต่ไม่สำเร็จ บังเอิญถูกสลากกินแบ่งจึงพ้นความเดือดร้อนไปได้
๒. กลวิธีในการดำเนินเรื่อง จะช่วยให้เรื่องน่าสนใจและเกิดความประทับใจ ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น
๒.๑ ดำเนินเรื่องตามลำดับปฏิทิน คือเริ่มตั้งแต่ตัวละครเกิด เติบโตเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม สาว แก่ แล้วถึงแก่กรรม
๒.๒ ดำเนินเรื่องย้อนต้น เป็นการเล่าแบบกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนท้ายก่อนแล้วย้อนกลับไปเล่าตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ
๒.๓ ดำเนินเรื่องสลับไปมา คือการเริ่มเรื่องในตอนใดตอนหนึ่งก่อนก็ได้ เช่น อาจกล่าวถึงอดีตแล้วกลับมาปัจจุบันอีก หรือการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดต่างสถานที่สลับกันไปมา
ผู้อ่านควรพิจารณา ว่ากลวิธีในการดำเนินเรื่องของผู้เขียนแต่ละแบบนั้นมีผลต่อเรื่องนั้นอย่าง ไร ทำให้เรื่องน่าสนใจชวนติดตาม และก่อให้เกิดความประทับใจหรือไม่ หรือว่าก่อให้เกิดความ
สับสน ยากต่อการติดตามอ่าน
๓. ตัวละคร ผู้อ่านสามารถพิจารณาตัวละครในนวนิยายในด้านต่อไปนี้
๓.๑ ลักษณะนิสัยของตัวละคร
๑) มีความสมจริงเหมือนคนธรรมดาทั่วไปคือ มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัวเอง ไม่ใช่ว่าดีจนหาที่ติไม่ได้ หรือเลวจนหาที่ชมไม่พบ
๒) มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของตน ไม่ประพฤติปฏิบัติในที่หนึ่งอย่างหนึ่งและอีกที่หนึ่งอย่างหนึ่ง
๓) การเปลี่ยนลักษณะนิสัยของตัวละครต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล
๓.๒ บทสนทนาของตัวละคร บทสนทนาที่ดีควรพิจารณา ดังนี้
๑) มีความสมจริง คือสร้างบทสนทนาให้สอดคล้องกับฐานะและลักษณะ ของตัวละครในเรื่อง
๒) มีส่วนช่วยให้เรื่องดำเนินต่อไปได้
๓) มีส่วนช่วยให้รู้จักตัวละครในด้านรูปร่างและนิสัยใจคอ
๔) มีส่วนช่วยให้เรื่องน่าอ่าน มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะบทสนทนาที่คมคาย หรือมีอารมณ์ขัน
๔. ฉาก หมายถึง สถานที่และเวลาที่เรื่องนั้น ๆ เกิดขึ้น มีหลักการพิจารณา ดังนี้
๔.๑ สอดคล้องกับเนื้อเรื่องและช่วยสร้างบรรยากาศ เช่น บ้านร้างมีใยแมงมุม จับอยู่ตามห้อง ฯลฯ น่าจะเป็นบ้านที่มีผีสิง คืนที่มีพายุฝนตกหนักน่าจะเป็นฉากสำหรับ ฆาตกรรม
๔.๒ ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง ฉากที่มีความถูกต้องตามสภาพภูมิศาสตร์ และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จะช่วยเสริมให้นวนิยายเรื่องนั้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้น
๕. สารัตถะหรือสารของเรื่อง หมายถึง แนวคิด จุดมุ่งหมายหรือทัศนะของผู้แต่งที่ต้องการสื่อมาถึงผู้อ่าน ผู้แต่งอาจจะบอกผู้อ่านตรง ๆ หรือให้ตัวละครเป็นผู้บอกหรือ อาจปรากฏที่ชื่อเรื่อง แต่โดยมากแล้วผู้แต่งจะไม่บอกตรง ๆ ผู้อ่านต้องค้นหาสาระของเรื่องเอง เช่น เรื่องผู้ดีของดอกไม้สดต้องการแสดงว่า ผู้ดีนั้นมีความหมายอย่างไร เรื่องจดหมาย จากเมืองไทย ของโบตั๋น ต้องการแสดงให้เห็นข้อดีข้อเสียของคนไทย โดยเฉพาะน้ำใจ ซึ่งคนชาติอื่นไม่มีเหมือน
นวนิยายที่ดีจะต้องมีสารัตถะของเรื่องและมีคุณค่าต่อผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

1 ความคิดเห็น:

  1. The Biggest Casino Wins in History - KTNV
    › › New Jersey Casinos › › New Jersey 세종특별자치 출장마사지 Casinos Apr 15, 2017 — Apr 15, 2017 A record-breaking 전주 출장안마 $3.5 원주 출장마사지 billion casino 사천 출장안마 win at Caesars' Hard Rock 구리 출장안마 $3.5 billion in prize money won by Caesars Entertainment.

    ตอบลบ